วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

เมืองโบราณดงสะคู

พระกรุสะคู

บ้านดงสะคู เดิมชื่อบ้านราชคฤห์ อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี เขตติดต่อระหว่างตำบลกุดจับกับตำบลขอนยูง อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี เดิมทีผมไม่รู้จักสถานที่นี้หรอกครับ แต่มีอยู่วันหนึ่งผมนั่งเล่นอยู่ที่บ้านเพื่อนที่อำเภอกุดจับ มีคนเอาพระมาให้เช่าเป็นพระพิมพ์ปรกโพธิ์นั่งแบบมารวิชัย เนื้อชินเงินแบบพระเชียงแสน ผมก็เข้าใจว่าเป็นพระเชียงแสนหลังจากที่ผมได้เช่าพระองค์นั้นไว้แล้ว พ่อของเพื่อนได้มาเห็นก็เลยบอกว่านี่เป็นพระกรุดงสะคู บ้านดงสะคู อำเภอกุดจับนี่เอง ผมได้ยินเช่นนั้นก็ใจเสียครับ เพราะเช่ามาแพงอีกทั้งไม่แน่ใจด้วยว่ามีกรุพระดังว่าหรือเปล่า พ่อของเพื่อนยังบอกอีกว่าหลวงพ่อที่วัด(บ้านอยู่ติดวัด)เอามาแจกตอนที่กรุแตกประมาณพันองค์ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเห็น หายากแล้ว






อาทิตย์ต่อมาเพื่อนบอกว่าจะพาไปดูที่นาของเพื่อนอีกคนที่ตำบลขอนยูง อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี ห่างออกไปประมาณ10กิโลเมตร ที่นั่นเขาเอารถไถนาแบบเดินตามไถแปลงนาแล้วพบไหโบราณ แล้วเอาเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อนบ้านมาดูแล้วตีเป็นหวยถูกรวยกันเยอะว่าแล้วก็พากันไป พอไปถึงเจ้าของที่นาก็พาเดินไปดูจนทั่วว่าจุดไหนเป็นยังไงตรงจุดที่พบไหนั้นผมได้ไปดูพบว่ามีเศษไหเก่าที่แตกกระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณ เจ้าของนาเล่าว่าบริเวณนี้(รวมถึงที่นาคนอื่น)เคยมีคนได้เงินหมากค้อ(เงินพดด้วง)เงินฮาง(เงินราง,เงินฮ้อย)และวันพระใหญ่ขึ้น15ค่ำ จะไม่มีใครกล้าที่จะนอนเฝ้านา เพราะว่าจะมีลูกไฟพุ่งขึ้นจากเนินดินตรงนั้น...แกชี้ไปที่เนินดินขนาดใหญ่ ลูกไฟลูกไม่ใหญ่ขนาดลูกมะนาวแต่สว่างมากลอยขึ้นสูงประมาณยอดไม้(ตามที่แกเล่าสูงประมาณ15เมตร)ผมก็เลยสงสัยถามไปว่าแล้วลูกไฟไปตกลงตรงไหน แกบอกว่าไม่รู้เห็นแต่ลอยไปทางดงสะคู แกชี้ข้ามเนินไป.....อ้าว(นี่ก็แสดงว่าแกรู้เรื่องกรุดงสะคู)



หลังจากลาเจ้าของที่นากลับ ผมก็ชวนเพื่อนไปที่บ้านดงสะคูโดยขับรถอ้อมไปอีกทางโดยไม่กลับทางเดิมที่มา ผมเดาเอาว่าจะต้องทะลุถึงกัน ขับรถไปตามทางถนนลูกรังไปประมาณ 5กิโลเมตรก็ถึงวัดสะคูห์วิทยา บังเอิญว่าเพื่อนที่พาไปรู้จักกับพระครูดอก เจ้าอาวาสวัดสะคูห์วิยา(ท่านยังหนุ่มอยู่)ได้สนทนากับท่านเล็กน้อยและได้ไปดูสถานที่ที่เป็นกรุพระเดิม ปัจจุบันได้สร้างศาลครอบไว้ พระครูบอกว่าให้ลองไปหาดูที่ดงกล้วยนั่น(หมายถึงของเก่า)ท่านชี้ไปข้างวัดที่เป็นที่ของคนอื่น ท่านเล่าว่าพระและเณรที่วัดไปหายังได้พวกโลหะสำริด หลังจากสนทนากับท่านพระครูพอประมาณผมและเพื่อนก็ลาท่านกลับเพราะจะค่ำแล้ว



อาทิตย์ต่อมาผมได้ชวนเพื่อนไปบ้านดงสะคูอีกครั้ง โดยคราวนี้ดิ่งไปที่ดงกล้วยเลยไปที่บ้านกลางไร่หลังหนึ่งที่เป็นเจ้าของที่และบังเอิญว่าเพื่อนที่ไปด้วยรู้จักกับเจ้าของไร่อีกคือคุณตาบุญเพ็งและคุณยายจอมศรี สมสวัสดิ์



คุณตาบุญเพ็ง สมสวัสดิ์ ได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับพระกรุดงสะคูให้ผมฟังตั้งแต่เริ่มหลังจากที่ผมได้เอาพระที่ผมเช่ามาให้ท่านดูว่าใช่หรือไม่ ซึ่งท่านพอเห็นพระที่ผมยื่นให้ดูท่านบอกว่านี่แหละพระกรุสะคูของจริง ไปได้มายังไงเมื่อก่อนตาก็แจกลูกแจกหลานไปหมดที่เหลือก็มีคนมาบูชาไปองค์ละเป็นหมื่นเพราะพระรุ่นนี้ยิงไม่ออกท่านเล่าว่า....








(คุณตาบุญเพ็ง และคุณยายจอมศรี สมสวัสดิ์)

....เมื่อก่อนบริเวณที่เป็นวัดสะคูห์วิทยาปัจจุบันนั้น เป็นดงขนาดใหญ่ ไม่มีวัด ไม่มีใครกล้าเข้าไปเพราะเจ้าที่แรงมากๆ มีต้นยางขนาดใหญ่ 7-8 คนโอบจำนวนมาก หมู่บ้านเป็นหมู่บ้านเล็กๆถนนหนทางเป็นทางเกวียนสัญจรลำบาก ไม่มีไฟฟ้า เมื่อปี พ.ศ.2509 ซึ่งคุณตาจำได้แค่ว่าปีนั้นเป็นปีที่น้ำท่วมจังหวัดหนองคายครั้งใหญ่ ได้มีคณะนายทหารยศนายพัน(ขอสงวนนาม) พร้อมพรามณ์ผู้ทำพิธีได้มาสำรวจหากรุเก่าโดยบอกว่าได้ลายแทงมาจากจังหวัดนครพนม การลักลอบขุดในครั้งนั้นคณะของนายทหารทั้งหมด ประมาณ 20 คนเสียชีวิตในขณะที่ขุดหลายคน ลักษณะนอน หรือนั่งเสียชีวิตโดยไม่มีอาการเจ็บป่วย







การขุดในครั้งนั้นพบไหปากกว้างชนิดมีหูสองข้างขนาดใหญ่ บรรจุพระไว้ข้างใน เช่น
-พระบูชาที่เป็นเนื้อทองคำหน้าตัก 5 นิ้ว และหน้าตัก 3 นิ้วจำนวน 3 องค์ (หล่อตัน)
-พระบูชาเนื้อว่านบุเงิน พิมพ์สมาธิและพิมพ์มารวิชัย ขนาดหน้าตัก 5 นิ้วและ 3 นิ้ว จำนวนมาก
-พระเครื่องพิมพ์ปรกโพธิ์ มารวิชัย (เนื้อเงิน) และพิมพ์สามเหลี่ยม สมาธิ (เนื้อเงิน)
ไหแต่ละใบบรรจุพระเครื่องไว้จำนวนเป็นพันๆองค์ ประมาณว่ารวมทั้งหมดน่าจะเท่าพระธรรมขันธ์ 84,000 องค์ พระทั้งหมดคณะนายทหารได้นำใส่รถบรรทุกของทหารไปโดยไม่ทราบว่าเอาไปไหน มีพระเครื่องทั้งสองพิมพ์จำนวนหนึ่งประมาณ 1,500 องค์ ชาวบ้านนำไปเก็บไว้ และพระเครื่องประมาณ 1,000 องค์ มีคนนำไปถวายหลวงพ่อแหวน.......วัดบรมสมภรณ์ บ้านหนองไชยวาน ตำบลเมืองเพีย อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี และหลวงพ่อได้แจกจ่ายให้กับพระลูกวัด และชาวบ้านที่ไปทำบุญทั้งหมด







เมื่อคณะนายทหารทำการขนพระทั้งหมดไปแล้ว ไม่กี่วันได้กลับมาเอาพระที่ชาวบ้านได้เก็บไว้ไปอีกโดยบอกชาวบ้านว่าใครมีเก็บไว้จะมีความผิด ชาวบ้านกลัวความผิดจึงได้มอบพระให้ไป มีชาวบ้านบางคนกำพระหว่านไปบริเวณบ้านแต่พอรุ่งเช้าไปหากลับไม่เจอทั้งๆที่กำหว่านไปเป็นร้อยๆองค์
เมื่อคณะนายทหารได้พระแล้วชาวบ้านได้ถามทหารที่ติดตามไปด้วยว่าพระก็ได้ไปเยอะแล้วทำไมไม่ให้ชาวบ้านเก็บไว้บูชาบ้าง ทหารนายนั้นบอกว่าเอาไปลองยิงด้วยปืน เอ็ม16 แต่ยิงไม่ออก...นายจึงมาเก็บให้หมด
คุณตาบุญเพ็งบอกว่ามีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งทำแบบเก๊ออกมาเมื่อตอนที่มีคนเข้าไปหากว้านซื้อ แต่ไม่ใช่เนื้อเงินและแบบจะไม่เหมือนองค์จริงเพราะองค์จริงหาไม่ได้คือประมาณเอาตามเท่าที่จำได้








ลักษณะของพระกรุดงสะคูพิมพ์ปรกโพธิ์
•ลักษณะโดยทั่วไปจะเหมือนกับพระเชียงแสน มีเฉพาะเนื้อชินเงินเท่านั้น
–องค์พระประทับนั่งแบบมารวิชัย ในซุ้มโพธิ์ มีอาสนะฐานบัวรองรับแบบฐานสูง
–ตัดแบบชิดองค์พระ พระกรขวาแยกจากองค์พระเป็นช่อง
–เห็นเม็ดพระศก พระเนตร พระนาสิก พระโอษฐ์ ชัดเจน
–พระอังสาแบ่งเป็นสองเส้นโค้งยาวจรดพระหัตถ์ซ้าย
–จุดที่แตกต่างจากพระพิมพ์เชียงแสนคือ ยอดพระเกศจะเรียวยาวเป็นเส้นเดียวจรดซุ้มโพธิ์ด้านบน
–ด้านหลังเรียบ


พระกรุดงสะคูพิมพ์สามเหลี่ยมสมาธิ(ไม่มีรูปยังหาไม่พบ)


ลักษณะโดยทั่วไปองค์พระประทับนั่งแบบสมาธิ ในซุ้มสามเหลี่ยมมีเฉพาะเนื้อชินเงินเท่านั้น


เมืองโบราณบ้านดงสะคู
•ลักษณะเป็นเนินดินทรงกลมกว้างประมาณ 300 เมตรบริเวณศูนย์กลางเนินดินเป็นป่าต้นยาง ตามรูปที่เห็นอยู่ด้านหลังไร่มันของคุณตาบุญเพ็งชาวบ้านทำไร่มันสำปะหลังโดยรอบเนินนั้น
•ตามคำบอกเล่าของคุณตาบุญเพ็ง ต้นยางขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 50-70 เซนติเมตร สูงประมาณ 30 เมตรที่เห็นอยู่นั้นเป็นลูกของต้นยางเดิมซึ่งเมื่อก่อนนี้ต้นยางมีขนาด 7-8 คนโอบแต่โดนโค่นไปขายโดยนายทุนจากในเมืองและลูกต้นยางที่เกิดใหม่ก็มีการโค่นเหมือนกันซึ่งไม่ใช่ที่ดินของคุณตาบุญเพ็ง
•คุณตาบุญเพ็งเล่าว่าบริเวณนี้น่าจะเป็นเมืองโบราณเพราะตอนที่ทำการไถเพื่อปลูกมันสำปะหลังได้พบเศษไห เศษถ้วยชาม มีทั้งแบบดินเผา และแบบสังคโลก(กังไส) ลายเขียนสีน้ำเงิน แต่ไม่เจอแบบที่สมบูรณ์
•เมื่อหลายปีมาแล้วคุณตาและชาวบ้านที่มีไร่มันสำปะหลังบริเวณนั้นได้เจอเงินราง(เงินฮาง,เงินฮ้อย) เงินพดด้วง(เงินหมากค้อ) เงินที่มีลักษณะแปดเหลี่ยมมีลักษณะเหมือนเลขหนึ่งตรงกลาง กำไลแขนทองคำ แหวนทองคำ หอกและดาบโบราณ เครื่องชั่งน้ำหนักทอง นอกจากนั้นยังมีเครื่องใช้อื่นๆที่เป็นเนื้อเงิน เนื้อโลหะสำริด สมบูรณ์บ้างแตกหักบ้าง


•ปัจจุบันที่คุณตาไม่มีเก็บไว้เพราะได้ให้ลูกหลานไปหมดแล้ว โดยเฉพาะหลอดกลมยาวที่คุณตาเรียกว่าตะกรุดลักษณะกลมยาว มีรูตรงกลางบ้าง ม้วนหรือพับบ้าง มีทั้งเนื้อเงิน เนื้อสัมริด เนื้อตะกั่ว ซึ่งคุณตาเล่าว่าได้ให้ลูกชายที่เป็นทหารไปภาคใต้ โดนยิงจ่อๆออกแต่ไม่โดนจึงมีคนมาขอมากก็ให้ไปหมดและยังมีลูกประคำแบบดินเผาด้วย ซึ่งเมื่อก่อนคุณตาบุญเพ็งได้ขึ้นมาจากการขุดสระน้ำจำนวน 3 ไหเล็ก (ชาวบ้านเรียกว่าไหไพ ลักษณะปากกว้าง ก้นแคบ เนื้อสีน้ำตาลและแกร่ง กว้างประมาณ 20 เซนติเมตร สูงประมาณ 30 เซนติเมตร
•จากที่ได้ขออนุญาตคุณตาบุญเพ็งและคุณยายจอมศรี สมสวัสดิ์ สำรวจดูบริเวณเนินนั้นพบว่าเป็นลักษณะดังที่คุณตาได้เล่าให้ฟังแล้ว และยังได้พบเครื่องใช้ต่างๆตามภาพที่นำมาแสดง
–ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ
1.เงินราง(เงินฮาง) เงินพดด้วง(เงินหมากค้อ) เงินเกือกม้า (ล้านนา) ซึ่งน่าจะอยู่ในสมัยรัตนโกสินธิ์ตอนต้น
2.เครื่องสังคโลก(กังไส)ลายเขียนสีน้ำเงิน ลายดอก ลายมังกร เงินตราของจีน และเครื่องชั่งน้ำหนักทอง หยก อัญมณีอื่นๆซึ่งน่าจะอยู่ในสมัยราชวงศ์หมิง
3.ขวานหิน ใบมีดใบหอกหิน เครื่องใช้ดินเผา ลูกประคำดินเผา ตะกรุด กระพรวนโลหะสำริดซึ่งน่าจะอยู่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับที่บ้านเชียง



(เพิ่มเติม)

เมื่อเดือนที่แล้วได้ทำงานออกสนามไปเก็บข้อมูลที่อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี มีโอกาสแวะไปกราบพระธาตุที่วัดป่าแมว และได้สนทนากับท่านเจ้าอาวาส ท่านเล่าประวัติของวัดและเรื่องที่ท่านไปเอาไปเสมาสมัยทราวดีขึ้นมาจากไร่ของชาวบ้านมาเก็บไว้ที่วัด (ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นสถานโบราณกลางแจ้งไว้แล้ว มีของเก่าให้ศึกษามากมาย ถ้ามีโอกาสไปอีกจะเขียนเรื่องมาลงเพราะอาณาเขตนั้นมโหฬารมากจากที่ท่านเจ้าอาวาสเล่า รัศมีของใบเสมาหินนั้นประมาณสี่ตารางกิโลเมตร) ครับหลังจากนั้นผมได้เล่าเรื่องดงสะคูให้ท่านเจ้าอาวาสฟังท่านบอกว่า น่าจะเป็นที่ฝังศพหรือป่าช้าเพราะติดกับวัด ส่วนตัวเมืองโบราณจริงๆก็จะอยู่รอบๆบริเวณนั้น...























































ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น